องค์ประกอบของระบบสารสนเทศที่ทำให้การจัดการข้อมูลมีประสิทธิภาพ และได้สารสนเทศที่นำมาใช้ประโยชน์ได้ มีดังนี้
1. ฮาร์ดแวร์ (Hardware) หมายถึง เครื่องมือหรืออุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้งานในระบบสารสนเทศ เช่น อุปกรณ์สำนักงานและเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ โดยฮาร์ดแวร์ที่สำคัญที่สุดในระบบสารสนเทศ คือ เครื่องคอมพิวเตอร์ ฮาร์ดแวร์ของเครื่องคอมพิวเตอร์สามารถแบ่งได้ตามหน่วยการทำงาน ดังนี้
- หน่วยรับข้อมูล (Input Unit) เป็นฮาร์ดแวร์ที่ทำหน้าที่ในหน่วยรับข้อมูล เรียกว่าอุปกรณ์รับข้อมูล (Input Devices) ได้แก่ แป้นพิมพ์ (Keyboard) เมาส์ (Mouse) กล้องดิจิทัล (Digital Camera) สแกนเนอร์ (Scanner) และไมโครโฟน (Microphone)
- หน่วยประมวลผลกลางหรือซีพียู (CPU : Central Processing Unit) มีลักษณะเป็นวงจรอิเล็กทรอนิกส์หรือชิป (Chip) ภายในประกอบด้วยทรานซิสเตอร์ (Transistor) และอุปกรณ์อื่นๆ รวมอยู่ด้วยกันจำนวนมากภายในคอมพิวเตอร์
- หน่วยความจำ (Memory Unit) เป็นหน่วยที่ทำงานในเครื่องคอมพิวเตอร์ด้วยความเร็วมากที่สุด มีหลายแบบทั้งแบบที่ติดตั้งในเครื่องคอมพิวเตอร์และแบบพกพา หน่วยความจำแบ่งตามลักษณะการทำงานเป็น 2 ประเภท ได้แก่
- หน่วยความจำหลัก (Main Memory) ได้แก่ แรม (RAM : Random Access Momory) รอม (ROM : Read-Only Memoty) และซีมอส (CMOS : Complementary Metal-Oxide Semiconductor)
- หน่วยความจำสำรอง เป็นฮาร์ดแวร์สำรองข้อมูล ได้แก่ ฮาร์ดดิสก์ (Hard Disk) แผ่นซีดี (CD : Compact Disc) แผ่นดีวีดี (DVD : Digital Versatile Disc) เป็นต้น
- หน่วยแสดงผล (Output Unit) ทำหน้าที่แสดงผลที่ได้จากการประมวลผลข้อมูล ได้แก่ เครื่องพิมพ์ และจอภาพ
2. ซอฟต์แวร์ (Software) หรือ โปรแกรม คือชุดคำสั่งที่เรียงเป็นลำดับขั้นตอนเพื่อสั่งให้คอมพิวเตอร์ทำงานและประมวลผลข้อมูลให้ได้สารสนเทศที่ต้องการ ปัจจุบันซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการทำงานระดับบุคคล ระดับกลุ่ม และระดับองค์กร มี 2 ประเภท ดังนี้
1) ซอฟต์แวร์ระบบ ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของคอมพิวเตอร์ ตั้งแต่การรับข้อมูล การประมวลผลข้อมูล การจัดเก็บข้อมูล และการแสดงผลข้อมูล ซอฟต์แวร์ระบบประกอบด้วยระบบปฏิบัติการและตัวแปรภาษา เช่น Microsoft Windows XP, Microsoft Windows Vista, Microsoft Windows 7, Macintosh, Linux, Open Solaris, Chrome OS เป็นต้น
2) ซอฟต์แวร์ประยุกต์ ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในการทำงานให้แก่ผู้ใช้งานระดับบุคคลอย่างกว้างขวาง และส่งเสริมการทำงานกลุ่มให้มีประสิทธิภาพ สำหรับในระดับองค์กร มักจะมีการพัฒนาซอฟต์แวร์ให้เหมาะสมกับลักษณะงานของแต่ละองค์กร โดยนักเขียนโปรแกรมในฝ่ายคอมพิวเตอร์ขององค์กรนั้นๆ
3. บุคลากร คือบุคคลที่ใช้งาน จัดการ และควบคุมระบบสารสนเทศ ซึ่งหากบุคลากรมีความรู้ความสามารถในการใช้ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และปฏิบัติงานตามขั้นตอนที่ถูกต้อง ส่งผลให้ระบบสารสนเทศทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและได้ผลงานที่มีคุณภาพ
บุคคลที่เกี่ยวข้องในการจัดการระบบสารสนเทศ มีดังนี้
1) นักวิเคราะห์ระบบ (System Analyst) คือ ผู้ทำหน้าที่วิเคราะห์ระบบการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์หรือระบบสารสนเทศที่ต้องการ โดยศึกษาปัญหาที่เคยเกิดขึ้นในระบบสารสนเทศ ตลอดจนหาแนวทางในการแก้ไขและปรับปรุงระบบสารสนเทศให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยนักวิเคราะห์ระบบแบ่งเป็น 2 ประเภท ดังนี้
1.1 นักวิเคราะห์ระบบที่เป็นบุคลากรภายในองค์กร (Staff employee within the organization)
1.2 นักวิเคราะห์ระบบที่เป็นที่ปรึกษาจากภายนอก (Outside or external consultant)
2) โปรแกรมเมอร์ (Programmer) คือ ผู้ที่ทำหน้าที่รับระบบสารสนเทศจากนักวิเคราะห์ระบบที่ได้จัดทำไว้มาเขียนหรือสร้างให้เป็นโปรแกรม เพื่อสั่งงานเครื่องคอมพิวเตอร์ให้ทำหน้าที่ได้ผลลัพธ์ตามที่ออกแบบมา
3) เจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติงานเครื่อง (Operator) คือ ฝ่ายที่ทำหน้าที่ติดตั้งโปรแกรมคอมพิวเตอร์ลงในเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อให้เครื่องคอมพิวเตอร์สามารถใช้งานได้ตรงตามความต้องการอย่างมีประสิทธิภาพ
4) ผู้ใช้ (User) เป็นผู้ใช้งานระบบสารสนเทศโดยตรง ผู้ใช้ระบบสารสนเทศที่ดีจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์ที่ใช้
4. ข้อมูล คือ องค์ประกอบที่ชี้วัดความสำเร็จหรือความล้มเหลวของระบบสารสนเทศ ข้อมูลที่ดีซึ่งเหมาะแก่การนำไปใช้งานต้องเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง ทันสมัย และมีความน่าเชื่อถือ โดยผ่านกระบวนการกลั่นกรองและตรวจสอบแล้ว นอกจากนี้ระบบต้องมีการจัดเก็บข้อมูลให้เป็นระเบียบเพื่อความสะดวกต่อการค้นหา
5. ขั้นตอนการปฏิบัติงาน คือ ระเบียบ วิธีการปฏิบัติงาน ลำดับขั้นตอนในการปฏิบัติงานหรือกระบวนการในการจัดการข้อมูลให้เป็นสารสนเทศที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ได้แก่
- – การรวบรวมข้อมูล
- – ตรวจสอบข้อมูล
- – ประมวลผลข้อมูล
- – จัดเก็บและดูแลรักษาข้อมูล